บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน)

Language
TH

การกำกับดูแลกิจการ

ลีซ อิท ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เนื่องจากบริษัทมีความเชื่อมั่นว่า ธรรมาภิบาลที่ดีจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ประสบความสำเร็จ และสร้างความเชื่อมั่นถือต่อผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ถึงการมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ อันจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

หมวดที่ 1 : สิทธิของผู้ถือหุ้น

   บริษัทฯ ตระหนักและให้ความสำคัญในสิทธิพื้นฐานต่างๆ ของผู้ถือหุ้น ได้แก่ สิทธิการซื้อขายหรือโอนหุ้น สิทธิในการที่จะได้รับส่วนแบ่งกำไรของกิจการและเงินปันผลอย่างเท่าเทียมกัน สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารของกิจการอย่างเพียงพอ สิทธิในการเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และเรื่องที่มีผลกระทบต่อบริษัทฯ เช่น การจัดสรรเงินปันผล การกำหนดหรือการแก้ไขข้อบังคับและหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ การลดทุนหรือเพิ่มทุน และสิทธิในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมในการรับซื้อหุ้นคืนโดยบริษัท เป็นต้น

   นอกเหนือจากสิทธิพื้นฐานต่างๆ ข้างต้นแล้ว บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นรวมถึงนักลงทุนสถาบัน ในการเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้น

1. จัดส่งหนังสือนัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 21 วัน โดยจะระบุวัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม ตลอดจนข้อมูลประกอบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจในที่ประชุมอย่างครบถ้วน

2. ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระหรือบุคคลใดๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้ โดยใช้หนังสือมอบฉันทะแบบหนึ่งแบบใดที่บริษัทฯ ได้จัดส่งไปพร้อมหนังสือเชิญประชุม

3. บริษัท จัดช่องทางการลงทะเบียน ณ สถานที่จัดการประชุม สำหรับผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดา และนักลงทุนสถาบัน โดยบริษัทได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการลงทะเบียน และนับคะแนนเสียง เพื่อช่วยให้ขั้นตอนการลงทะเบียนและการประมวลผลการลงคะแนนเสียงเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

4. เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถาม แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ได้อย่างเต็มที่และอิสระ

5. เมื่อการประชุมแล้วเสร็จ บริษัทฯ จะจัดทำรายงานการประชุมโดยแสดงข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้

   อนึ่ง บริษัทฯ ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2562 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 31 อาคารเอ็มเอส สยาม ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยมีกรรมการและผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 จำนวน 11  ท่าน

   บริษัทฯได้มอบให้บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายทะเบียนของบริษัท เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารประกอบการประชุมให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นเวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 21 วัน ก่อนการประชุม และได้จัดให้มีการเผยแพร่หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารประกอบการประชุมทางเว็บไซด์ของบริษัทที่ www.leaseit.co.th เป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนการประชุม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้นได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

   บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคำถามที่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุมล่วงหน้าก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563  ในระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2562 อย่างไรก็ดี ไม่มีผู้ถือหุ้นส่งคำถามที่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุมแต่อย่างใด

   บริษัทฯ ระบุความเห็นของคณะกรรมการบริษัทฯ ไว้ในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น และจัดส่งหนังสือเชิญประชุม   ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในระยะเวลาที่ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์กำหนด เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีเวลาศึกษาข้อมูลล่วงหน้าก่อนการประชุม นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นจะได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์ เว็บไซต์ของบริษัทฯ และการลงข่าวสารในหนังสือพิมพ์ตามพระราชบัญญัติมหาชนจำกัด ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายที่จะให้คณะกรรมการบริษัทฯ เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นโดยพร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะประธานอนุกรรมการชุดต่างๆ เช่น ประธานกรรมการตรวจสอบ เป็นต้น เพื่อร่วมชี้แจงหรือตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้นในที่ประชุม

   บริษัทฯ ได้จัดให้มีการชี้แจงหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงลงคะแนนให้แก่ผู้ถือหุ้นก่อนเริ่มประชุม โดยมีที่ปรึกษากฎหมายทำหน้าที่กำกับดูแลการประชุมและการออกเสียงลงคะแนนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้น ประธานในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และวาระการประชุมอย่างเต็มที่

   บริษัทฯ ได้ทำการแจ้งมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 โดยระบุผลการออกเสียงลงคะแนนในแต่ละวาระ แยกประเภทคะแนนเสียงเป็น “เห็นด้วย” “ไม่เห็นด้วย” และ “งดออกเสียง” โดยจัดส่งในรูปแบบจดหมายข่าวไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในวันถัดไปภายหลังจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเสร็จสิ้น พร้อมทั้งเปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท

​​​​​​

หมวดที่ 2 : การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

   คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญและดูแลให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่ไม่เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยหรือผู้ถือหุ้นต่างชาติ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยได้ดำเนินการต่างๆ ดังนี้

   บริษัทฯ มีนโยบายที่จะรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกราย โดยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประธานในที่ประชุมจะดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระการประชุมที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น และไม่มีการเพิ่มวาระการประชุมโดยไม่แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นของบริษัททุกรายมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามจำนวนหุ้นที่ตนถืออยู่ โดยหนึ่งหุ้นมีสิทธิออกเสียงเท่ากับหนึ่งเสียง

   บริษัทฯได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอเรื่องที่เห็นสมควรบรรจุเป็นวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 และเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการล่วงหน้าก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นในระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2562 โดยบริษัทได้เผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการดังกล่าวโดยจัดส่งในรูปแบบจดหมายข่าวไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และทางเว็บไซต์ของบริษัทที่ www.leaseit.co.th อย่างไรก็ดี ไม่มีผู้ถือหุ้นเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระการประชุม หรือเสนอชื่อบุคคลเพื่อ

   บริษัทฯได้มอบให้บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายทะเบียนของบริษัท เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารประกอบการประชุมให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นเวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 21 วัน ก่อนการประชุม และได้จัดให้มีการเผยแพร่หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารประกอบการประชุมทางเว็บไซด์ของบริษัทที่ www.leaseit.co.th เป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนการประชุม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้นได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

   บริษัทฯ มีนโยบายที่จะเพิ่มทางเลือกในการประชุมให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง สามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระหรือบุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมและออกเสียงแทนผู้ถือหุ้นได้ โดยบริษัทฯ ได้จัดเตรียมหนังสือมอบฉันทะตามแบบที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนด ซึ่งระบุถึงเอกสาร/หลักฐานทั้งคำแนะนำขั้นตอนในการมอบฉันทะ ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการออกเสียงลงคะแนนได้ และได้จัดส่งหนังสือมอบฉันทะให้แก่ผู้ถือหุ้นพร้อมหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นสามารถดาวน์โหลดหนังสือมอบฉันทะได้ทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่ www.leaseit.co.th

   การดำเนินการประชุมจะเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทฯ ตามลำดับวาระการประชุม โดยจะมีการเสนอรายละเอียดในแต่ละวาระอย่างครบถ้วน พร้อมแสดงข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน รวมทั้งจะไม่เพิ่มวาระการประชุมที่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะวาระที่มีความสำคัญที่ผู้ถือหุ้นต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ

   คณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัตินโยบายการรายงานการซื้อ-ขายหุ้น/ถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทให้ที่ประชุมคณะกรรมการทราบ โดยครอบคลุมมาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในโดยมิชอบ (Insider Trading) ของบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง รวมตลอดถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล รวมถึงได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทฯหรือนำข้อมูลของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ตามนโยบายการป้องกันการนำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งได้ให้ความรู้แก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯเกี่ยวกับภาระหน้าที่ในการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ในบริษัทฯ ของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยคณะกรรมการ และผู้บริหารได้มีการรายงานการซื้อ-ขายหุ้น/ถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททราบเป็นรายไตรมาสมาโดยตลอด

   บริษัทฯ จะจัดทำรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และจัดให้มีการเผยแพร่รายงานการประชุมทางเว็บไซต์ของบริษัทที่ www.leaseit.co.th

   บริษัทฯ มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันที่เข้าข่ายจะต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนทำรายการ  บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและความสัมพันธ์ของบุคคลที่เกี่ยวโยง นโยบายการกำหนดราคา และมูลค่าของรายการ รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการเกี่ยวกับรายการดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทราบอย่างชัดเจนในการประชุมผู้ถือหุ้น

   บริษัทฯ มีนโยบายไม่อนุญาตให้มีรายการระหว่างกันในลักษณะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกันสินเชื่อ

   บริษัทฯ มีรายการระหว่างกันกับกลุ่มบริษัทฯ ในเครือ ซึ่งได้กระทำอย่างยุติธรรมตามราคาตลาด และเป็นไปตามปกติธุรกิจการค้า (Fair and at arms’s length)

 

หมวดที่ 3 : บทบาทต่อผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทฯตระหนักถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกบริษัท และดูแลเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติด้วยดี ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงให้แก่บริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในระยะยาว ดังนี้

1. พนักงาน :

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกบุคลากร ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง และเน้นบุคลากรมีประสบการณ์ในการทำงานตรงกับลักษณะงานของบริษัทฯ เพื่อความเชี่ยวชาญในงานนั้นซึ่งบริษัทฯ ตระหนักเสมอว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และเป็นรากฐานของความสำเร็จ ดังนั้น บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของพนักงานตลอดเส้นทางการทำงาน โดยพัฒนาทักษะ เพิ่มพูนความรู้อย่างต่อเนื่อง และความสามารถของพนักงาน รวมทั้งมอบโอกาสในการสร้างความก้าวหน้าในการทำงานให้แก่พนักงานทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจในเรื่องผลตอบแทนที่เหมาะสมและสามารถเทียบเคียงกับบริษัทชั้นนำโดยทั่วไป  ตลอดจนการดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานทุกคนโดยเท่าเทียมกันโดยบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานที่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้นอาทิเช่น ความสามารถในการทำกำไรในแต่ละปี ในรูปแบบของเงินจูงใจ (Incentive) และเงินโบนัส (Bonus) และในระยะยาว โดยการนำเอารูปแบบการวัดผลการปฏิบัติงานตาม Balanced Scorecard โดยอาศัยการกำหนดตัวชี้วัด (KPIs) มาใช้เป็นเครื่องมือทางด้านการจัดการที่ช่วยในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ (Strategic Implementation) โดยอาศัยการวัดหรือการประเมิน ที่จะช่วยให้องค์กรเกิดความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมุ่งเน้นในสิ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรโดยบริษัทฯ ศึกษาและทบทวนโครงสร้างองค์กร บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งงาน ประเมินผลการทำงานและความก้าวหน้าในการทำงานของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาองค์กรสู่การเป็นองค์กรที่ดี นอกจากนี้ บริษัทได้จัดให้มีโครงการ Employee Joint Investment Program (EJIP) เพื่อให้พนักงานได้ออมและสร้างผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวและมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2558 และได้ครบกำหนดโครงการในเดือนมีนาคม 2561 และบริษัทได้จัดให้มีโครงการ Employee Joint Investmen Program No.2 (EJIP No.2) ขึ้นในเดือนเมษายน 2561 มีระยะเวลาโครงการกำหนด 3 ปี

   บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องสวัสดิการและความปลอดภัยของพนักงาน โดยบริษัทฯได้จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ วันเวลาทำงาน วันหยุด วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาหยุดประเภทต่างๆ รวมถึงการประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีการประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับพนักงานทราบ และนอกจากนั้นบริษัทฯ ได้จัดให้มีสวัสดิการอื่นๆ นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด อาทิ การประกันสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน การประกันชีวิต การประกันอุบัติเหตุ และการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงจัดให้มีมาตรการการดูแลสุขภาพอนามัยของพนักงาน  อาทิ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด และการจัดหาหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือให้แก่พนักงานและบุคคลภายนอก นอกจากนี้ บริษัทฯได้จัดให้มีเงินช่วยเหลือพนักงานในกรณีต่างๆ เช่น การสมรส การคลอดบุตร การอุปสมบท การเสียชีวิตของญาติใกล้ชิด การประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น

   จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ การหยุดงาน ในปี 2562 พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุ หรืออัตราการหยุดงานจากการเจ็บป่วยจากการทำงาน เท่ากับ ศูนย์

2. คู่ค้า
บริษัทฯ กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และรับผิดชอบต่อคู่ค้าทุกฝ่าย ตามข้อตกลงทางการค้าที่ได้ตกลงกัน ทั้งนี้ โดยการกำหนดเงื่อนไขและแนวทางการปฎิบัติตั้งแต่แรกอย่างชัดเจนและเป็นธรรม  ตลอดจนการให้ความร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าเพื่อประโยชน์โดยรวมทั้ง 2 ฝ่าย
2.1 ลูกค้า:

บริษัทฯ กำหนดนโยบายและแนวทางปฎิบัติต่อลูกค้า ทุกรายโดยมีการแจ้งเงื่อนไขให้รับทราบอย่างชัดเจน โดยเงื่อนไขดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่เป็นธรรม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นในการให้การบริการลูกค้า และให้คำแนะนำช่วยเหลือแก่ลูกค้าด้วยความสุภาพ อ่อนโยน พร้อมรับฟังปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า โดยไม่เปิดเผยความลับของลูกค้า

2.2 เจ้าหนี้ :

บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนระหว่างบริษัท และเจ้าหนี้อยู่เสมอ บริษัทฯมีนโยบายในการปฏิบัติต่อเจ้าหนี้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้แก่เจ้าหนี้ และยึดมั่นในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาที่มีต่อเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม การดำรงอัตราส่วนทางการเงิน และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นต้น และหากเกิดกรณีที่บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งได้ บริษัทฯจะแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบโดยเร็ว เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ที่ผ่านมา บริษัทฯไม่มีเหตุผิดนัดชำระหนี้

3. คู่แข่ง :

บริษัทฯ ดำเนินการโดยสุจริตและการรักษามาตรฐานในการให้บริการ และยึดหลักการไม่กล่าวพาดพิงคู่แข่ง หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงของคู่แข่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ปฏิบัติต่อคู่แข่งขันด้วยความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ถือว่าคู่แข่งอื่นต่างก็มีหน้าที่เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ดีและมีคุณภาพแก่ลูกค้า เช่นเดียวกัน

4. สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม:

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายให้บริษัทฯ เน้นการประพฤติปฎิบัติอย่างเป็นธรรมตนโดยคำนึงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทฯได้จัดทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อช่วยเหลือชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ  บริษัทฯ ร่วมกับ คณะกรรมการบริษัทฯ คู่ค้า ลูกค้าและเจ้าหนี้ ได้ร่วมสนับสนุนสิ่งปลูกสร้าง สิ่งของบริจาค และทุนการศึกษา ให้แก่เยาวชนที่ห่างไกล และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

   คณะกรรมการบริษัทฯได้กำหนดนโยบายในเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และได้กำหนดแนวปฏิบัติที่สามารถดำเนินการได้ภายในบริษัทฯ อาทิ การประหยัดพลังงานไฟฟ้า การประหยัดน้ำ การรณรงค์การใช้กระดาษ Recycle การคัดแยกขยะ รวมไปถึงการบำบัดน้ำทิ้งเบื้องต้นก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำ

   นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ส่งเสริมให้มีการให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทมีนโยบายในการคุ้มครองและปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯได้ดำเนินการเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและควบคุมกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดการของเสียที่เกิดขึ้นภายในบริษัท

หมวดที่ 4 : การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

   คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส ทั้งรายงานข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทั่วไปตามหลักเกณฑ์ของก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนข้อมูลที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ทั้งหมดได้รับทราบข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน โดยบริษัทฯ จะทำการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศของบริษัทฯ รวมถึงเอกสารข่าวของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษต่อผู้ถือหุ้น และสาธารณชนผ่านช่องทางและสื่อการเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ และเว็บไซต์ของบริษัทฯ www.leaseit.co.th โดยบริษัทฯได้ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ บริษัทฯได้จัดประชุมแถลงข้อมูลผลการดำเนินงานให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน และผู้ที่สนใจ รวมถึงการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีผู้บริหารของบริษัทเข้าร่วมประชุมชี้แจงและตอบข้อซักถาม

   คณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัตินโยบายการรายงานการซื้อ-ขายหุ้น/ถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทให้ที่ประชุมคณะกรรมการทราบ โดยครอบคลุมมาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในโดยมิชอบ (Insider Trading) ของบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง รวมตลอดถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล รวมถึงได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทฯหรือนำข้อมูลของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ตามนโยบายการป้องกันการนำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งได้ให้ความรู้แก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯเกี่ยวกับภาระหน้าที่ในการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ในบริษัทฯ ของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยคณะกรรมการ และผู้บริหารได้มีการรายงานการซื้อ-ขายหุ้น/ถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททราบเป็นรายไตรมาสมาโดยตลอด

   คณะกรรมการบริษัทฯ ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อรายงานงบการเงินที่มีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน เป็นจริง และสมเหตุสมผล งบการเงินของบริษัทฯ จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยเลือกใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวัง รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบ         งบการเงิน นอกจากนี้ คณะกรรมการได้จัดให้มีการดำรงรักษาไว้ซึ่งระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล เพื่อให้มั่นใจได้อย่างมีเหตุผลว่าการบันทึกข้อมูลทางการบัญชีมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สิน และเพื่อให้ทราบจุดอ่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือการดำเนินการที่ผิดปกติอย่างมีสาระสำคัญ รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบรายงานทางการเงิน รายการระหว่างกัน และระบบควบคุมภายใน โดยคณะกรรมการตรวจสอบจะรายงานตรงต่อคณะกรรมการบริษัทฯ นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังได้จัดทำรายงานคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้การรับรอง รวมถึงคณะกรรมการบริษัทฯ จะเป็นผู้พิจารณาและอนุมัติการทำรายการระหว่างกันที่มีความสำคัญ ได้แก่ การทำรายการระหว่างกันที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท และรายการระหว่างกันที่มีมูลค่าเกินกว่าที่ได้อนุมัติงบประมาณไว้

   นโยบายการแจ้งเบาะแส  :  คณะกรรมการบริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายใน และภายนอกองค์กร แจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะ (Whistle Blower) ในประเด็นการทำผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ รายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง หรือระบบการควบคุมภายในที่บกพร่อง ผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาตรวจสอบหาข้อเท็จจริง รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครองและปกป้องผู้แจ้งเบาะแส

   ในส่วนของงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์บริษัทฯ ได้จัดให้มีหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์เพื่อทำหน้าที่ในการติดต่อและให้ข้อมูลต่างๆ แก่ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงต่อความเป็นจริง และทั่วถึง    ทั้งนี้   ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลบริษัทจากหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-163-4252 และ 02-163-4259 หรือทางอีเมล์ IR@leaseit.co.th บริษัทฯ ได้มอบหมายให้กรรมการผู้จัดการ และ/หรือ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

              

หมวดที่ 5 : ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

1. โครงสร้างคณะกรรมการ

   โครงสร้างคณะกรรมการบริษัทฯ ประกอบด้วย กรรมการอิสระมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ปัจจุบันบริษัทฯ มีกรรมการทั้งสิ้นจำนวน 8 ท่าน แบ่งเป็นกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 3 ท่าน และกรรมการอิสระที่ไม่เป็นผู้บริหารจำนวน 5 ท่าน และยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบอีกด้วย โดยเป็นกรรมการที่เป็นผู้หญิงจำนวน 4 ท่าน นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อช่วยในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ พิจารณาและรับทราบ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบมีสิทธิหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ทั้งนี้ กรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 ท่าน จะต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านบัญชีเพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินของบริษัทฯ ได้ และวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระของบริษัทฯ ต่อเนื่องไม่เกิน 9 ปี นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระเป็นครั้งแรก อนึ่งบริษัทฯ ไม่มีกรรมการอิสระท่านใดที่ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของบริษัทฯ เกิน 9 ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระเป็นครั้งแรก และ  บริษัทฯไม่มีกรรมการที่ดำรงตำแหน่งในบริษัทจดทะเบียนมากกว่า  5 บริษัท (ไม่นับรวมตำแหน่งที่ปรึกษาในบริษัทจดทะเบียน)

   บริษัทมีนโยบายไม่ให้กรรมการผู้จัดการของบริษัท ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทอื่น และบริษัทจดทะเบียนอื่นมากกว่า     2 บริษัท (ไม่นับรวมบริษัทในเครือ) และต้องไม่เป็นกรรมการในบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์  เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ

    นอกจากนี้ บริษัทฯ มีนโยบายในการแบ่งแยกตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการให้เป็นคนละบุคคลกัน เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ รวมทั้งมีการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละตำแหน่งไว้อย่างชัดเจนในอำนาจดำเนินการของบริษัทฯ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ จะเป็นผู้กำหนดอำนาจหน้าที่ และคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยประธานกรรมการมาจากการเลือกตั้งของกรรมการบริษัท ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม โดยควบคุมการประชุมของคณะกรรมการบริษัทให้เป็นไปตามระเบียบวาระการประชุม และสนับสนุนให้กรรมการทุกท่านมีส่วนร่วมในการประชุม  เช่น ตั้งคำถามหรือข้อสังเกต ให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหาร และสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท แต่จะไม่ก้าวก่ายในการบริหารการจัดการกิจการของบริษัท

   คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการที่มีคุณสมบัติ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์หลากหลาย ทั้งด้านการเงิน การบัญชี การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และกิจการธนาคาร โดยกรรมการอิสระของ บริษัทฯ มีคุณสมบัติสูงกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามรายละเอียดซึ่งแสดงอยู่ภายใต้หัวข้อ รายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุม และเลขานุการบริษัท

   อนึ่ง กรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไม่เคยเป็นพนักงานหรือหุ้นส่วนของบริษัทสอบบัญชีภายนอกที่บริษัทใช้บริการอยู่ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท

   ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้แต่งตั้งเลขานุการบริษัทฯ เพื่อให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามพระราช บัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

2.  บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

   บริษัทฯ กำหนดให้กรรมการบริษัทฯ ปฏิบัติตามข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน (Code of Best Practices) ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในวิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ ทิศทางและนโยบายในการดำเนินงาน แผนการประกอบธุรกิจ และงบประมาณประจำปีของบริษัท และกำกับดูแลให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการประกอบธุรกิจที่กำหนดไว้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท และมติของคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้มีส่วนได้เสียเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่บริษัท และเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยคณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการพิจารณาทบทวนและให้ความเห็นชอบในวิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ ทิศทางและนโยบายในการดำเนินงานของบริษัทเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคณะกรรมการต้องเข้าใจและทราบถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตน และต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัทฯ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ

   คณะกรรมการของบริษัทฯ ได้จัดให้มีนโยบาย และแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กร และผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน โดยมีการกำหนดแนวทางการดำเนินการไว้อย่างชัดเจน โดยคณะกรรมการของบริษัทฯ มีหน้าที่พิจารณาคัดเลือก ติดตามการดำเนินการตามแผนการสืบทอดตำแหน่ง และการพิจารณาคัดเลือกกรรมการผู้จัดการ  และกรรมการผู้จัดการมีหน้าที่พิจารณาคัดเลือก ติดตามการดำเนินการตามแผนการสืบทอดตำแหน่ง และการพิจารณาคัดเลือกผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  และผู้อำนวยฝ่ายบัญชีและการเงิน ตามรายละเอียดที่ปรากฎในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 56-1

 

คณะกรรมการตรวจสอบ

   คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยกรรมการอิสระทั้งหมด รวมเป็นจำนวน 5 ท่าน ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการสอบทานกระบวนการรายงานทางการเงินของบริษัท ระบบการควบคุมภายใน และระบบการตรวจสอบภายใน การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท พิจารณาและคัดเลือกผู้สอบบัญชีของบริษัท และสอบทานรายการที่เกี่ยวโยงกัน ธุรกรรมของผู้มีส่วนได้เสีย หรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น  ซึ่งได้กล่าวถึง บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบไว้ในส่วนของโครงสร้างการจัดการ

   อนึ่ง ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการพิจารณาและคัดเลือกผู้สอบบัญชีของบริษัทนั้น คณะกรรมการตรวจสอบจะพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชีตามเกณฑ์การประเมินผลของบริษัท ซึ่งประกอบด้วยประสบการณ์   ผลการดำเนินงาน ความรู้ความเข้าใจในธุรกิจการให้สินเชื่อ ธุรกิจการเงิน และความเชี่ยวชาญในการสอบบัญชี รวมถึงความเป็นอิสระในการดำเนินงานของผู้สอบบัญชีในปีที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท และที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชี โดยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2562 ได้แต่งตั้งให้ นางสาวสมใจ คุณปสุต   ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขทะเบียน 4499  หรือนางสาวรัตนา จาละ  ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 3734 หรือนางสาวรัชดา ยงสวัสดิ์วาณิชย์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขที่ 4951 ซึ่งทุกคนเป็นผู้สอบบัญชีจาก สำนักงาน อีวาย จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทและนอกจากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบยังมีหน้าที่ในการพิจารณาเสนอแต่งตั้ง โยกย้าย และเลิกจ้าง    ผู้ตรวจสอบภายในอีกด้วย

 

คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน

   คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนประกอบด้วยกรรมการอิสระ 5 ท่าน ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับค่าตอบแทนสำหรับประธานกรรมการและกรรมการอื่นๆ เพื่อพิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนของกรรมการผู้จัดการและพิจารณาความถูกต้องและเหมาะสมของนโยบายค่าตอบแทน เป็นต้น

   ในการพิจารณาค่าตอบแทนของกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณาจากผลการดำเนินงานของกรรมการผู้จัดการในปีที่ผ่านมา โดยประเมินตามดัชนีชี้วัด (Key Performance Indications) ที่กำหนดไว้ ซึ่งในแต่ละหมวดจะมีการให้น้ำหนักที่แตกต่างกัน และนอกจากนั้นในปี 2558 บริษัทได้จัดทำโครงการให้สิทธิแก่ผู้บริหารในการซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งถือเป็นค่าตอบแทนที่จะจูงใจในระยะยาว (Long-term Incentive) ที่มีความสอดคล้องกับผลงานของบริษัท และผลประโยชน์ที่สร้างให้กับผู้ถือหุ้น

 

คณะกรรมการสรรหา

   คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการอิสระทั้งหมด รวมเป็นจำนวน 5 ท่าน ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาสรรหาบุคคลเพื่อเสนอชื่อให้แต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัท นอกจากนี้คณะกรรมการสรรหายังทำหน้าที่พิจารณาและเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารที่สำคัญของบริษัทในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น

 

คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ

 คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการประกอบด้วยกรรมการอิสระทั้ง 5 ท่าน ทำหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของผู้ถือหุ้น นักลงทุน หน่วยงานกำกับดูแล และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ

 

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

   คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงประกอบด้วยกรรมการอิสระทั้ง 5 ท่าน ทำหน้าที่บริหารจัดการความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ด้านความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ด้านสภาพคล่องทางการเงิน ด้านการตลาดและการแข่งขัน ด้านการปฏิบัติการ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน และด้านอิทธิพลในการบริหารงานของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่มีผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ซึ่งครอบคลุมถึง การบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของพนักงาน สังคม และชุมชน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

3. การประชุมคณะกรรมการ

   บริษัทฯ มีนโยบายให้คณะกรรมการของบริษัทฯ ต้องประชุมอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง และอาจมีการประชุมพิเศษเพิ่มเติมตามความจำเป็นโดยบริษัทจะแจ้งกำหนดการประชุมคณะกรรมการบริษัทให้กรรมการทราบล่วงหน้าทุกปี เพื่อให้กรรมการสามารถจัดเวลาและเข้าร่วมประชุมได้อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยการประชุมแต่ละครั้งได้มีการกำหนดวาระในการประชุมอย่างชัดเจนและมีการส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมให้แก่กรรมการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วันทำการเพื่อให้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนเข้าร่วมประชุมโดยมีผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมการประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียด และตอบข้อซักถามของคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ ประธานกรรมการเปิดโอกาสให้กรรมการทุกท่านได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยก่อนการลงคะแนน และสรุปมติของที่ประชุมในแต่ละวาระการประชุม และนอกจากนี้บริษัทมีนโยบายในการลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการ ให้ต้องมีจำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำ ณ ขณะที่คณะกรรมการจะลงมติ ต้องมีกรรมการอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด รวมทั้งได้มีการจดบันทึกรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดเก็บรายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบริษัทฯ พร้อมให้คณะกรรมการบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

การกำกับดูแลกิจการที่ดีได้เปิดเผยอยู่ในรายงานประจำปี 2562 และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2562 (แบบ 56-1)